วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553

"บันทึกระหว่างทาง(๔) : ว่าด้วยหนึ่งตอน"



>>>>>ธุลีดิน


เอาล่ะ มาลองประเดิมวงโม้กันด้วยวาทะของท่านหัวหน้าเจ๋อ




'ไม่ต้องกังวลเรื่องฟีดแบ็ค ใครจะอ่านมากอ่านน้อยเป็นอีกเรื่อง ลากดาบต่อไปให้สุดทาง ร่องรอยที่ทิ้งไว้จะบอกเราเองว่าควรจะเดินไปทางไหน'



การนี้เป็นแลกเปลี่ยนทัศนะว่าด้วย 'กระบี่สุริยะดาบสุริยาอีโต้จันทรา' อันเป็นงานเขียนที่ท่านหัวหน้าเจ๋อกะลังประเลงลวดลายดัชนีดับสุริยา เอ่..หรือว่าสุริยะ มาเป็นตอนที่สอง เอ่..หรือว่าตอนแรก (หว่า) http://narinthongdee.blogspot.com/2010/01/blog-post_10.html



เห็นงามด้วยคำกล่าวนั้นสุดหัวใจล่ะขะรับ แต่ก่อนชงโอเลี้ยงวางลงบนโต๊ะขอได้ยกข้อดีที่เห็นด้วยวางเก้าอี้ข้างเสียก่อน แล้วเรามาต่อกันให้ไกลอีกนิด



ความนี้เป็นสิ่งซึ่งข้าพเจ้าเองยังทำไม่ได้ ไปไม่ถึง ยกมาสนทนาก็เพื่อแลกเปลี่ยนกัน ตระหนักว่าเหล่าเราไปพ้นพะวงผลตอบรับแล้ว ที่ยังต้องพะว้าก็คือตรากตรำกรำอักขระเยี่ยงไรจึงจะไปให้สุดทาง (ซึ่งสาหัสสากรรณเสียกว่าล่วงพ้นอารมณ์วูบไหว เม้นท์แล้วนะ เข้ามาอ่านแล้วนะ หลายเท่านัก) จึงหากประคองปลายนิ้วไปได้จนถึงจุดหมายย่อมเป็นที่ปราโมทย์ประโลมใจ แต่ประเด็นที่จะยกตั้งโต๊ะคือระหว่างนั้น!



ข้าพเจ้าเคยลองโพทต์ตามแต่เขียนได้ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะโพสท์ทุกวัน ทำเยี่ยงนั้นนับว่าสมใจคนเขียน คือบรรลุเป้าหมายทุกวัน แต่ผ่านนานเข้าชักคิดถึงใจคนอ่าน ว่ามันจะอารมณ์ขาด ๆ ค้าง ๆ อยู่นา



จากนั้นจึงพยายามให้เนื้อหาลงตัวในแต่ละโพสท์ ไม่ว่าสั้นหรือยาว เนื้อหานั้น ๆ สมควรมีความลงเฉพาะตัวเมื่อถึงบรรทัดสุดท้ายอักษรท้ายสุด ก็เหมือนเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งนั่นแลขะรับ เป็นเรื่องสั้นที่ตัวเรื่องต่อเนื่องกันไปแต่ละโพสท์จบความตามที่เรื่องสั้นควรเป็น



เอาล่ะสิ..



หลังคิดเยี่ยงนั้น อาการคิดไม่ออก เขียนไม่ออกเริ่มมา การที่เคยเดินง่ายถ่ายคล่องก็กลายสะดุดอุดรูก้นถ่ายไม่ออกเสียกระนั้น



จึงความคิดที่ว่าจะโพสท์ทุกวันจำต้องหยุดลงเพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่มือละอ่อนหัดเขียนจะปั่นออกมาได้เจ๋งดังใจด้วยเวลาจำกัดจำเขี่ย เริ่มมองหาทางออก หากทะยอยเขียนทีละวัน สิ้นสัปดาห์นำมาเรียบเรียงให้ลงตัวแล้วโพสท์ เนื้อหาอาจสามารถบำเรอสหายอ่านได้ดีกว่าเรื่องราวที่ยังขาดห้วง



หากถ้อยวาจาผู้น้อยติดไปข้างลึกล้ำดำมืด ท่านที่เคารพไม่อาจสร้างภาพกระจ่างใจ เนื่องจากทราบว่าได้ผ่านตา 'ผู้ชนะฯ' มา (ท่านหนุ่มเคยไหม?ท่านสายทราบว่ายัง) ก็จะลองยก 'ผู้ชนะฯ' เป็นสาทก



สถานการณ์เอกประพันธกรที่ยามนั้นชื่อยังหาได้ปักลงเป็นเสาหลักสยามวรรณภพก็เป็นเยี่ยงเรานักหัดเขียนบนเน็ตปัจจุบัน ท่านเขียนลงหนังสือพิมพ์รายวันดังเราท่านทราบดี แต่ละวันคือหนึ่งตอน หนึ่งตอนที่มีความยาวกระทัดรัด มีชื่อของแต่ละตอนกำกับบ่งบอกเนื้อหาของตอนนั้น ๆ หากท่านยังไม่อาจแจ้งกระดองใจ ก็จะลองยกตัวอย่าง



ตอนแรกของยอดขุนพล ชื่อ 'ตอนลูกร่วมนม' เนื้อหาบรรยายถึงกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในพุกามประเทศ มีราชบุตรและราชบุตรี ทั้งสองถูกเลี้ยงดูด้วยแม่นมซึ่งก็มีบุตรตนอีกหนึ่ง เด็กทั้งสามจึงเติมโตมาด้วยกัน ครั้นเจริญวัยพระราชเทวีเห็นว่าสมควรแยกราชบุตรีมาเลี้ยงดูเสียในวัง จะเด็ดและจันทราจึงร่ำอาลัยจากด้วยจิตปฏิพัทธ์



จบตอนหนึ่งเพียงเท่านี้ (คิดออกยัง?) ทั่นที่เคารพจะเห็นว่าความในตอนจบอย่างลงตัวสมชื่อที่จั่วหัวไว้ เยี่ยงนี้จึงนับว่า บำเรอผู้อ่าน หากยังคิดไม่ออกจะลองแถมอีกสักตอนก็ยังได้



ตอนสองคือ 'ราชภัยครั้งแรก'



มังตรานิสัยคะนอง เห็นจันทรามาเยี่ยมแม่นมแต่ละทีมักหายลับนั่งคุยอยู่กับจะเด็ดนานสองนานจึงนำความแจ้งพระราชเทวี คนทั้งคู่ถูกจับได้ จะเด็ดคิดแก้ไข โดยยอมรับทัณฑ์ผู้เดียว องค์กษัตริย์นั้นกริ้วจนลงหวายด้วยตัวเอง มังตราเห็นความคะนองตนนำภัยแก่สหายถึงชีวิตก็สำึนึก รับคำจะเด็ดไปตามเจ้าขลัวซึ่งเป็นอาจารย์ของทั้งสองให้มาช่วยแก้



จบตอนสอง



แต่ละตอนลงตัวสวยงาม จบในตัวเองมิต่างเรื่องสั้นชั้นดี ที่สำคัญคือ 'ยาขอบ' เขียนวันต่อวัน เราเองแม้นไม่มีกำลังทักษะถึงเพียงนั้น แต่หากสามารถเปลี่ยนเป็นหนึ่งสัปดาห์ คิดว่ายังพอจะกล้อมแกล้ม แลใช้ลานสำนักแทนหนังสือพืมพ์ประชาชาติเมื่อครั้งอดีต



แน่่ล่ะผลตอบรับดี-ร้ายเยี่ยงไรเราหายอมปล่อยกระทบใจ แต่หากสามารถนำตัวอักษรเดินทางสู่เป้าหมายและนำเริงรมย์บรรณาการสหายอ่านด้วยในทีเดียวย่อมเป็นที่ปรารถนาแห่งเรานักหัดเขียนหรือมิใช่?



จึงหากสหายที่เคารพพินิจความข้อนี้สักหน่อย แล้วจัดการให้โพสท์ของดาบสุริยะ เอ้ย! หรือว่าสุริยา เอ๊ะ!รึสุริยัน! มีเนื้อหารวบรัดหมดจดลงตัวในแต่ละตอนจะเป็นการดีมิใช่น้อยเลย หรือสหายเจ๋อเห็นเป็นเช่นไรขอได้แบกบาล



คารวะ


>>>>นารินทร์ ทองดี



>>> เจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของบทที่ ๑ ยังได้รับเมตตาจากท่านสหายช่วยวิเคราะห์ให้ ก็นับว่าเส้นทางที่เลือกเดินอยู่นี้ไม่เลวร้ายเกินไปนัก



เปล่าเลยท่าน เราทั้งหลายเปล่าก้าวพ้นพะวงการตอบรับ ว่าที่จริงแล้วเรายังต้องการผลตอบรับอยู่เสมอ จะบวกจะลบนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะชมว่าดีเหลือคณาหรือจะด่าว่าชุ่ยฉิบหายก็เป็นอีกเรื่อง ขอเพียงให้มีผลตอบรับมาเถิด หัวใจดวงน้อยของนักหัดเขียนต้องการสิ่งนี้มากที่สุดในโลก ส่วนประโยคที่ผมริแต่งให้คมแล้วแหมะไว้ที่วงน้ำชาหน้ากระท่อมของท่านนั้น โดยนัยความหมายต้องการสื่อถึงบรรยากาศลานสำนักอันมีสมาชิกมากหน้าหลายตา มีการงานส่วนตัวและส่วนอื่นพะรุงพะรังทำให้ยากต่อการสละเวลาอ่านเรื่องยาวๆ แล้วในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในไม่กี่ท่านที่อวดดีเขียนเรื่องยาว ก็จำเป็นต้องสร้างเกราะคุ้มภัยให้หัวใจอันบอบบางของตนรอดพ้นจากความทรมานอันสาหัสสากรรจ์นั้นเสีย



ไม่ต้องกังวงเรื่องฟีดแบ็ค  คือหนึ่งประโยคเท่ๆที่คิดถึงขึ้นมาคราใดก็ให้เกิดอาการอักขระไหลลื่นปานท่อประปาแตก ก็ลองตรองดูสิท่านสหายเอ๋ย เราเป็นคนเก่งเรื่องการร้อยเรียงอักขระมาจากฟ้าไหนถึงจะกล้าคิดว่าเขียนชิ้นไหนก็ต้องได้ใจผู้อ่าน ปีกเราแกร่งกล้าแล้วหรือสำหรับการโฉบลงมาฉกจิกหัวใจคนอ่านให้เขาเหล่านั้นเกิดความหฤหรรษ์ มิใช่เราเป็นเพียงหนอนกระจอกที่ยังคลานต้วมเตี้ยมอยู่ปลายขอบจักรวาลบรรณาพิภพดอกหรือ เราจึงต้องให้กำลังตัวเองด้วยประโยคเช่นนี้ ใครจะอ่านมากอ่านน้อยเป็นอีกเรื่อง  นี่ก็เป็นอีกหนึ่งประโยคที่ใช้ถีบตัวเองให้กล้าดุ่มเดินไปบนเส้นทางสายบัดซบที่เราได้มาปะจอกชากัลล์



ลากดาบต่อไปให้สุดทาง ร่องรอยที่ทิ้งไว้จะบอกเราเองว่าควรจะเดินไปทางไหน  นี่ก็ถือว่าคมนะท่านนะ ผมยังทึ่งเลยว่าตัวเองคิดได้ไงในอารมณ์นั้น เหตุผลก็อีหรอบเดียวกับสองประโยคข้างต้นนั้นแล แต่ออกจะซ่อนความหมายเชิงปัจเจกไว้หน่อยตรงอาการลากดาบ ร่องรอยจากคมดาบทู่ๆที่ผมอุตส่าห์ลากมาจะบอกผมในวันข้างหน้าให้รู้ถึงรหัสบางอย่าง ส่วนมันจะเป็นอะไรนั้นค่อยมาวิเคราะห์กันอีกที เย็นใจไว้ก่อนสักพรรษานะพระเดชพระคุณท่าน



เรื่องการประคองนิ้วบรรจงสร้างสรรค์ตัวอักษรให้ไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ออกทะเลตกน้ำตายหรือค้างเติ่งอยู่ปลายเสาไฟฟ้านั้น ก็อย่างที่ท่านสหายคร่ำครวญมานั่นแลขอรับ สำหรับเราๆท่านๆแล้วไม่ต่างอะไรกับการเข็นครกขึ้นภูเขาหรือฝนทั่งให้เป็นเข็ม โบราณท่านว่ากิจ ๒ ประการนี้มันยากเย็นเหลือจะรับประทาน แต่นี่แน่ะท่านสหายเอ๋ย...ครกนั้นย่อมเคยมีคนเข็นขึ้นภูเขามาแล้ว และเข็มนั้นย่อมจะเคยเป็นทั่งมาก่อน โบราณท่านสอนให้รู้จักพลิกแพลงหรอกน่าจึงได้เปรียบเปรยไว้เช่นนี้ และวิธีที่ข้าน้อยคิดจะพลิกแพลงได้ในตอนนี้ก็คือประโยคที่ท่านอุตส่าห์เห็นงามสุดหัวใจนั่นแหละจ้า




ส่วนปริมาณอักษรที่เหมาะสมสำหรับการโพสต์ในแต่ละครั้งนั้น ท่านสหายสู้อุตส่าห์นั่งทางในรำลึกความหลังครั้งตะละแม่จันทรากับจะเด็ดยังเป็นละอ่อนหน้าใส เพียงเพื่อจะบอกให้ผู้น้อยแจ้งแก่ใจว่าควรจะโพสต์ส่ำได๋จั่งสิเบิ่งงาม และตามที่ผู้น้อยได้ฝ่าม่านหมอกแห่งความลุ่มลึกของภาษาอันวิจิตรบรรจงของท่านสหายมาได้ ก็พอจะจับเค้าความหมายที่ซ่อนอยู่ได้บ้างพอหอมปากหอมคอ แล้วก็ให้นึกถึงความสามารถอันจำกัดจำเขี่ยของตน จะเขียนเยี่ยงไรหนอถึงจะเขียนได้ตามที่ท่านสหายเสนอแนะมา?




บทที่ ๑ คงไม่ต้องเสียเวลากล่าวถึงมันแล้ว ความยาวปาไป ๑๑ หน้ากระดาษเอ ๔ (ขนาดอักษร ๑๖) ขออภัยข้าน้อยเขียนผิด ๑๐ หน้าครึ่งต่างหากล่ะ โดยเนื้อเรื่องที่ใส่ลงไปก็ถือว่าสมใจปรารถนาทุกอย่าง เนื้อหามันมีแค่นั้นจริงๆ เขาเหล่านั้นที่นั่งอยู่ในห้องนั้นจะพาผู้อ่านเดินทางไปสู่เรื่องราวส่วนต่างๆของเรื่อง การโพสต์ให้จบสวยงามในแต่ละช็อตก็เป็นวิธีที่ดีนะท่าน ขอน้อมรับด้วยจิตคารวะ และคงจะได้ใช้ในโอกาสโพสต์ครั้งต่อๆไป




พูดก็พูดเถอะสหายเอ๋ย การได้เสวนากับเหล่าท่านทั้งในสำนักและนอกสำนักตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ เปรียบประหนึ่งวิตามินที่บำรุงหัวใจให้กระชุ่มกระชวยได้ดีชะมัด รักษาโรคเดียวดายได้ชะงัด คำถามคือเราหวังอะไรจากกันและกันหรือเปล่าสหาย? สำหรับข้าน้อยหวังเพียงอย่างเดียวคือให้เราก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางนี้จนกว่าจะตายจากกัลล์ไปข้างหนึ่ง



คารวะ


>>>>หนุ่มช่างสงสัย




การกังวลกับเรื่องฟีดแบ็คเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของงานเขียน

ความกังวลนับเป็นด่านแรกก่อนที่เราๆท่านๆจะเริ่มลงมือเขียนเสียอีก

หรือมิใช่?

ดังนั้นสมควรก้าวล่วงความกังวลนี้ได้ขอรับ ไม่ขอเขียนยาว(เวลาพิมพ์ต๊อกแต๊กไม่พอ)

มาถึงสิ่งที่สะดุดความคิด

หนึ่งตอนที่ทั่นดิลล์เสนอสมควรผูกผ้าแพร 7 สีมณี 7 แสง

นี่นับว่าเป็นตัวช่วยวางแผนงานเขียนที่ดีมากๆ ผู้น้องเห็นด้วยกับพี่ทั่น

ในเรื่องยาวที่ทั่นพุ่มฯเขียนนั้นน่ะ ผมเดาเอานะครับ ทั่นพุ่มฯคงคิดถึงการดำเนินเรื่องไปจนถึงตอบจบแล้ว แม่นบ่?

แต่ถ้าทั่นพุ่มฯแบ่งออกเป็นตอนๆ ตามแต่สมควรที่เนื้อหาตอนหนึ่งๆควรจะมี สมควรที่ตอนนั้นๆจะถูกกำกับด้วยใจหลัก หรือธีมของตอนนั้นๆ

คุณประโยชน์อย่างหนึ่งก็คือช่วยเป็นแนวทางการดำเนินเรื่องไม่ไห้ไขว้เขว เพราะบ่อยครั้งที่เวลาเราพิมพ์เพลินๆเกิดความคิดต่างๆขึ้นเรื่อยๆซึ่งอาจทำให้ตอนนั้นที่เราวางไว้แต่แรกเกิดเพี้ยนไปได้

อีกอย่างก็จะเป็นการกระชับเนื้อเรื่องได้โดยปริยาย เป้าหมายที่วางไว้แต่แรกในการกำหนดชื่อตอนจะคอยกำกับแนวทางให้เราเห็นล่วงหน้าว่าแต่ละตอนจะจบอย่างไร เนื้อหาในตอนนั้นๆควรดำเนินไปอย่างไรที่ไม่เยิ่นเย้อแบบน้ำท่วมทุ่ง

สำหรับปริมาณตัวอักษร

อันนี้ผมไม่แสดงความเห็น แต่สำหรับผม...ผมจะคำนึงถึงเนื้อหาจากเริ่มต้นตอนนั้นๆจนจบมากกว่าว่าสมเหตุสมผลกับความยาวหรือไม่ บางตอนเนื้อหามากน้อยสมควรเป็นไปตามธีม หรือหลักของตอนนั้นๆขอรับ

สำหรับการจบตอนแบบหมดจดนั้น ผู้น้องเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์

คารวะ



>>>>นารินทร์ ทองดี

แล้วทีนี้ใครจะกล้าเผลอทำมือหล่นจากแป้นพิมพ์ล่ะขอรับ ไม้เรียวจากมิตรพร้อมเสมอที่จะเคาะข้อนิ้วอันปูดโปนให้ได้รู้สำนึก การเขียนทิ้งๆขว้างๆคงจะสูญพันธุ์ไปจากสันดานของผมในเร็ววันนี้แน่ๆเลย


ประเด็นที่ท่านทั้งสองเมตตาวิเคราะห์บทที่ ๑ ให้นั้น เท่าที่สติปัญญาจะมีพอสำหรับสังเคราะห์สาร มีเพียงประเด็นเดียวเท่านั้นที่ผมจับได้ ใช่หรือไม่ว่าประเด็นนั้นคือการโพสต์เผยแพร่ในแต่ละบทแต่ละตอนควรให้มีเนื้อหาที่เป็นส่วนเดียว อันหมายถึงการสรุปรวบยอดให้ประเด็นจบครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ทิ้งให้ค้างคา


การโพสต์ในลักษณะนี้ หากตั้งชื่อตอนกำกับไว้ด้วย อาจจะทำให้เนื้อหาในตอนนั้นๆชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างบทที่ ๑ นี้ผมควรจะตั้งชื่อให้ว่า ‘พระเจ้าพรหมรัตนะ’ ด้วยว่าเนื้อหาทั้งหมดวนเวียนอยู่กับพระราชาองค์นี้ ส่วนที่แตกออกเป็นปลีกย่อยก็คือการกล่าวถึงขุนนางตัวละครสำคัญอีกสามสี่ตัว ซึ่งก็มีความเกี่ยวพันอยู่กับพระราชาของพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่แล้ว ผมจึงถือว่าผมทำได้ไม่เลวร้ายนัก โดยส่วนตัวผมรู้สึกพอใจบทที่ ๑ ที่เพิ่งเขียนจบไป แต่ในวันข้างหน้า อาจจะอีกสัก ๑ เดือน หรือ ๑ ปี ความพอใจของผมอาจจะลดลง และคงมีการแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น


ท่านสหายหนุ่มช่างสงสัยที่น่ารักของเราได้แสดงความสงสัยไว้ว่า ผม-ผู้เขียน คงจินตนาการถึงตอนจบไว้แล้ว ขอเรียนว่าเป็นเช่นนั้นจริงครับ แต่ท่านสีหนุ่มฯที่เคารพ การจินตนาการเรื่องราวตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย ไม่ยากเท่าการพยายามเขียนแต่ละตอนให้จบสมบูรณ์เลยขอรับ อย่างบทที่ ๒ ที่ผมเขียนได้ ๓ หน้าตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว จนถึงวันนี้มันก็ยังค้างอยู่ที่ ๓ หน้าเช่นเดิม ทั้งๆที่ได้วาดภาพไว้ชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มต้นยังไงและจะจบลงแบบไหน คำราชาศัพท์คือปัญหาใหญ่ รองลงมาคือการบรรยายอาการเคลื่อนไหวของตัวละครให้ผู้อ่านเห็นภาพ ถัดมาคือการใช้คำซ้ำซาก(คลังคำมีไม่มากพอ) และถัดมาอีกก็คือสำนวนภาษาที่แย่ลงซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับตอนเขียนจดหมายจีบสาว


ภาษาของผมจะมีลักษณะผีเข้าผีออก ขึ้นอยู่กับสภาวะอารมณ์ และสภาพภูมิอากาศ แฮ่ม! ทั้งหมดทั้งมวลเท่าที่จะนึกได้นั่นแหละครับ ความเห็นของผมอันนี้กับอันบนมีสำนวนภาษาต่างกันลิบลับ บอกให้ก็ได้ว่าเป็นเพราะอะไร คือท่านดิลล์แกมักจะมาในแนวภาษาเก่า บรรยายมากจนน้ำท่วมทุ่ง ถ้าผมจะเขียนอะไรสักอย่างคุยกับแกผมก็ต้องเขียนให้เหมือนแก เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่าผมเองก็ลุ่มลึกเป็นเหมือนกันโว้ย! (ลุ่มลึกในความเข้าใจของพวกเราแปลว่าเขียนไม่รู้เรื่อง (ฮา)) แต่ความเห็นของท่านหนุ่มฯมาในแนวกระชับ ใช้ภาษาเรียบง่ายตรงไปตรงมา ผมก็ต้องเอาใจท่านหนุ่มเป็นธรรมดา หรือยังไงขอรับพระเดชพระคุณท่าน


แต่อย่างไรก็ดี แม้เราจะมีสำนวนภาษาที่ต่างกัน มีทัศนคติการใช้ชีวิตและการมองโลกที่แตกต่างกัน ทว่าเมื่อเราได้มาพบกันบนเส้นทางสายนี้ สิ่งที่ผมหวังจากเหล่าท่านก็ยังคงมีเพียงประการเดียวคือให้เราเดินเคียงกันไปบนเส้นทางสายอักษรจนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่ง

ผมไม่ได้หวังมากเกินไปใช่ไหม?

ขอบคุณทั้งสองท่านที่ช่วยวิเคราะห์ ดาบสุริยะ

คารวะ

3 ความคิดเห็น:

DiN กล่าวว่า...

ได้คำโต้คมคารมนับว่าสาสมใจ
สำนวนความเรียงท่านงามนัก รอแต่เมื่อใดจึงจักสำแดงในตัวเรื่องอย่างเต็มกำลัง ยามนี้ยังรู้สึกว่าพลังอักษรในความเรียงอ่อนแรงลงเมื่อใช้กับตัวเรื่อง ท่านรู้สึกเยี่ยงนี้บ้างหรือไม่? หรือข้าพเจ้าเพ้อพกไปเอง?

นารินทร์ ทองดี กล่าวว่า...

คงเป็นเช่นนั้นแหละขอรับ พระเดชพระคุณท่านเอย...

DiN กล่าวว่า...

เตร้งเตรงเตร่งเตร้ง..
เตรง..เตร่ง..เตร้ง..
เตรง..เตร่งงงงง..

แสดงความคิดเห็น