วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

"ความมืดมนของนักเขียนหนุ่ม"




ทองดี โคกกระโดน รู้สึกเหงาอย่างประหลาด เปลวเทียนวูบไหว อากาศหลังตีสี่ค่อนข้างเย็น แผ่นกระดาษบนโต๊ะญี่ปุ่นยังคงว่างเปล่า มันถูกทับด้วยปากกา RENOLDS ที่ยังฝังหัวอยู่ในปลอก ไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่นึกอะไรไม่ออก เขียนอะไรไม่ได้ อาการนี้เขาเป็นมานานแล้ว ทุกครั้งที่ประสบกับความตีบตันเช่นนี้ เขาจะรู้สึกเหงาและเศร้า




แล้วมันไม่ใช่เรื่องที่น่าเศร้าหรอกหรือ ในเมื่อคนที่เป็นนักเขียนแต่ไม่สามารถเขียนอะไรได้ หัวสมองกลวงเปล่า มืดมน มองไม่เห็นหนทางที่จะดำเนินอักขระสัมพันธ์อันใดได้เลย



นาทีแล้วนาทีเล่าที่เคลื่อนผ่านไปอย่างเชื่องช้า เปลวไฟลามเลียเทียนไขจนสั้นกุด หยาดน้ำตาเทียนย้อยลงมากระจุกอยู่ตรงโคน และแล้วเพียงลมแผ่วพัดผ่านมา โลกใต้ต้นมะม่วงของทองดี โคกกระโดน ก็ดับลง มืดมิดในช่วงไม่กี่วินาทีแรก ก่อนที่แสงไฟจากเสาไฟฟ้าหน้าบ้านจะแผ่มาแทนที่ ทองดี โคกกระโดน พยายามปรับสายตาให้รับสภาพแสงสลัว ไม่นานนักเขาก็สามารถสังเกตเห็นแผ่นกระดาษที่วางอยู่กลางโต๊ะ



มันยังคงอวดความว่างเปล่าท่ามกลางแสงสลัว



///



ที่ร้านส้มตำป้าติ่ง



ก่อนหน้านี้ถ้าทองดี โคกกระโดนจะมาที่นี่ เขาจะมีเหตุผลเพียงประการเดียวคือหิว แต่ช่วงวันสองวันมานี้ ทองดี โคกกระโดน เพิ่มเหตุผลให้ตนเองอีกหนึ่งประการคือ เพื่อศึกษาเรียนรู้



ในนิยายเรื่องใหม่ของเขา มีตัวละครอยู่หนึ่งตัวที่จะต้องเข้าฉากตำส้มตำ ตัวละครตัวนี้ถูกกำหนดให้เป็นผู้หญิง หล่อนได้ผัวฝรั่ง อันว่าเพราะเหตุใดพวกฝรั่งจึงมาแต่งงานกับสาวไทย ทองดี โคกกระโดน ยังไม่มีเวลาศึกษาวิจัยลงลึกถึงรายละเอียด แต่เหตุผลที่สาวไทยแต่งงานกับฝรั่งนั้น ก็เพราะส่วนใหญ่ต้องการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของตน



ทองดี โคกกระโดนให้ความสำคัญกับผัวเมียคู่นี้มาก เขาเต็มใจสละเนื้อที่ให้ถึง 1 บท เฉพาะฉากที่ต้องให้ตัวละครตำส้มตำนั้นเขายอมให้ถึง 2 หน้า แต่ก็เป็น 2 หน้าที่ยังเว้นว่างไว้ เขาไม่สามารถเขียนฉากนี้ได้ ด้วยเหตุเพราะเขาตำส้มตำไม่เป็น ก็อย่างที่ทองดี โคกกระโดนเคยปฏิบัติในการเขียนนิยายทุกเรื่องของเขา นั่นก็คือ เขาจะไม่เขียนในสิ่งที่เขาไม่รู้หรือยังไม่มีข้อมูลที่แน่นปึ๊ก



ดูอย่างนักเขียนที่ชื่อ วินทร์ เลียววาริณ สิ นิยายทุกเรื่องของนักเรียนท่านนี้ จะอัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่มีอยู่จริง คละเคล้ากับส่วนที่แต่งขึ้นได้อย่างลงตัว เชื่อเถิดว่าน่าจะมีนักอ่านหลายคนที่เผลอคิดว่า “หมวดตุ้ย”กับ “เสื้อย้อย” มีตัวตนจริงๆในนิยายเรื่อง “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน”



ทองดี โคกกระโดน เคยเข้าเว็บวินบุ๊คคลับบ้างแต่ไม่บ่อยนัก เขาพอจะคุ้นชื่อแฟนคลับหลายคน เช่น สายลม สายฝน ต้นข้าว Jasmine ชริ saranya_nok.worm คิทชา น็อต หวังเล่อเทียน สหัทยา สนิมกฤช (...) สิญจน์ สวรรค์เสก พีพี กีรติ ยางมะตอยสีชมพู load จินนี่ ท่านเจ้าคุณ ขุนอรรถ และ ฯลฯเหล่านี้คือชื่อหนอนที่กำลังสนุกสนานอยู่หน้าบอร์ดขณะนี้ มีอยู่บางพวกที่ไปๆมาๆ ทำราวกับว่าตัวเองแบกภาระหนักของชาติไว้คนเดียว เช่น จี-รา วนิดา(นามปากกา) อานันท์ ไอซ์ หนุงหนิง nena วนิดา น้ำแข็งละลายในแก้วชาดำเย็น ส้มลิ้ม นางงามมิตรภาพ และ ฯลฯ



ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ในจำนวนหนอนทั้งหลายที่เป็นแฟนคลับวินทร์ เขารู้สึกหมั่นไส้คนที่ใช้นามปากกาว่า “ธุลีดิน” มากกว่าคนอื่น ในขณะเดียวกัน เขาก็รู้สึกชอบ “พุ่มฮัก บ้านหนอน” มากที่สุดในเว็บนี้



มันจะต้องมีอะไรสักอย่างในความเป็นส้มตำ ที่ทำให้อาหารชนิดนี้มีเสน่ห์ เป็นที่นิยมชมชอบของคนไทยอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่าสูตรเด็ดเคล็ดลับของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน รสชาติก็อาจแตกต่างกันบ้างตามรสนิยม แต่ทองดี โคกกระโดนก็ยังคิดว่ามันจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่



เขาเขียนฉากอื่นของบทนี้เสร็จสิ้นแล้ว ใช้บทบรรยายมากหน่อยตรงประวัติความเป็นมาของหญิงสาว หล่อนมาจากไหน ...ฐานะทางบ้านเป็นอย่างไร การศึกษาระดับไหน ทัศนคติการมองโลกและการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร แต่เรื่องความคิดเห็นทางการเมืองนั้นเขาจำเป็นต้องละไว้ มันไม่ใช่หน้าที่ของนักเขียนที่จะต้องเข้าไปก้าวก่ายความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองของตัวละคร ส่วนฉากเลิฟซีนซึ่งมันต้องมีแน่ๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างผัวเมีย ทองดี โคกกระโดน เขียนแค่ 5 บรรทัด แม้จะสั้นแค่นั้น แต่เขาก็เชื่อว่าคนอ่านต้องเห็นภาพชัดเจน



ป้าติ่งตำส้มตำวันละไม่ต่ำกว่าร้อยครก แต่ละครกก็แตกต่างกันไปตามชื่อเรียกซึ่งมีหลายชื่อ ตำลาว ตำไทย ตำปูปลาร้า ตำปู ตำแตง ตำถั่ว ตำซั่ว ตำป่า ฯลฯ ขั้นตอนก็เดิมๆ พริก กระเทียม ผงชูรส (บางคนไม่ใส่) โขลกๆๆๆ ตามด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา น้ำปลาร้า มะนาว มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะกอก(ถ้ามี)กุ้งแห้ง ถั่วลิสง ฯลฯ โขลกๆๆ ใส่เส้นมะละกอหรืออื่นๆ โขลกคลุกเคล้า ชิม พอได้ที่แล้วก็เสริฟ



มันก็แค่นั้น-ทองดี โคกกระโดนคิด แต่เขาก็ยังเชื่อว่ามันต้องมีอะไรสักอย่าง



วันนี้ ทองดี โคกกระโดน นั่งคิดทั้งวัน กระทั่งป้าติ่งปิดร้าน เขาจึงเปิดปากถาม



“ป้าติ่งครับผมอยากทราบอะไรบางอย่าง?”



“ถามมาสิ”



“ป้าติ่งใส่อะไรลงไปในส้มตำทุกครกที่ป้าตำ ลูกค้าจึงได้ติดหนึบเป็นตังเม?”



เจ้าของร้านส้มตำครุ่นคิดชั่วครู่ ก่อนจะตอบว่า “ใส่ใจ!”



ทองดี โคกกระโดนรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองกำลังคุยอยู่กับอาจารย์เซน แต่ก่อนที่เขาจะทันได้เอ่ยคำใดออกมาอีก เขาก็ฉุกคิดได้ว่าเขาเคยรู้จักพ่อค้าส้มตำคนหนึ่งที่ขายอยู่ปากซอยวัดหงส์ฯ พ่อค้าคนนั้นเคยเล่าอัตชีวประวัติของตนให้ทองดีฟัง ก่อนจะมาขายส้มตำ เคยทำมาแล้วหลายอย่าง ทั้งเป็นกรรมกรรับจ้าง เป็นคนงานในโรงงาน เคยเข็นรถขายไอศกรีม เคยขายก๋วยเตี๋ยว ก่อนจะมายึดอาชีพพ่อค้าส้มตำเป็นตำแหน่งสุดท้าย



ลูกค้าติดใจในฝีมือของเขา แต่บางช่วงบางเวลา พ่อค้าคนนี้ก็แสดงออกให้ทองดี โคกกระโดนจับสังเกตได้ว่าเขายังขาดอะไรบางอย่างในชีวิต ทองดี โคกกระโดนคันปากจึงเอ่ยถามไปว่า



“เป็นอิหยังบักอ้าย?”



พ่อค้าส้มตำตอบว่า “บักทองดีเอ๊ย อ้ายขายส้มตำมาก็หลายปีแล่ว ตำบักหุ่งมาแล่วหมื่นครก แต่บ่เคยมีจั๊กเถื่อที่อ้ายสิตำให้แม่อ้ายกิน” พ่อค้าส้มตำยกมือปาดน้ำใสๆที่เริ่มเอ่อท้นเบ้าตา ทองดี โคกกระโคน แน่ใจว่ามือนั้นเพิ่งหยิบพริก พ่อค้าส้มตำน้ำตาไหลพราก “อ้ายกะลังเก็บเงิน ได้เงินหลายๆแล่วอ้ายสิเมือบ้าน ไปตำบักหุ่งให้แม่อ้ายกิน...”



ทองดี โคกกระโดน ยกมือไหว้ป้าติ่งท่วมหัว ก่อนจะเผ่นพรวดไปยังต้นมะม่วงอันเป็นที่ชอบๆของเขา ตอนนี้เขารู้แล้วว่าจะใส่อะไรลงไปในฉากตำส้มตำที่เว้นว่างไว้





(ภาพจาก moph.go.th)

2 ความคิดเห็น:

พระพาย กล่าวว่า...

หวัดดีพี่ท่าน

แหม้...เห็นแล้วน้ำลายไหล
ช้อนกับส้อมอยู่ไหน เอามาไวๆ แล้วมานั่งเจี๊ยะกัลล์

: )

นารินทร์ ทองดี กล่าวว่า...

หวัดดีแม่พระพาย

แสดงความคิดเห็น