วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

จาก : จุดประกายวรรณกรรม  http://www.bangkokbiznews.com/jud/wan/20070602/news.php?news=column_23843666.html


พจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

พรชัย จันทโสก : รายงาน jantasok@yahoo.com
-----------------------------------
กลายเป็นที่ฮือฮา และตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ท้วงติง ถึงความเหมาะสมกรณีอันเนื่องมาจากทางราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำ พจนานุกรมคำใหม่ โดยรวบรวมคำที่ปรากฏระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม 2548 - 26 เมษายน 2550 และหลายคำเป็น 'ภาษาวัยรุ่น' หรือ 'คำแสลง' ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับในภาษาไทยระดับมาตรฐาน และคำเหล่านี้เมื่อนานไปอาจยังคงอยู่หรือตายไปตามยุคสมัย

ยกตัวอย่างเช่นคำว่า กระดี๊กระด๊า (กะดี๊กะด๊า) กรึ๊บ กวนตีน กวนบาทา กลืนเลือด กิ๊บเก๋ เกย์ควีน เกย์คิง กิ๊ก โก๊ะ โกอินเตอร์ กูรู คั่ว โคโยตี้ จ๊าบ ดี๊ด๊า เด็กแนว เด๊ะ ตลกบริโภค ต่อมฮา ติงต๊อง ตีฉิ่ง ทอม ดี้ ป๋าดัน เจ๊ดัน นมหก โนเนม อินเทรนด์ เอาะๆ อึ๋ม อาโนเนะ เป็นต้น

แม้คำบางคำยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าถูกต้องตามหลักภาษาไทย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคำเหล่านี้มีอิทธิพลต่อคนยุคนั้นๆ เพราะมีการใช้กันเหมือนเป็นปกติธรรมดา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดความเป็นห่วงเรื่องการใช้ภาษาไทยที่นับวันยิ่งผิดเพี้ยนรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะยุคสื่ออินเทอร์เน็ตระบาด


ต่อไปนี้เป็นทรรศนะของ ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม และในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่าทำไมถึงมีความจำเป็นต้องทำพจนานุกรมเล่มดังกล่าวขึ้น

แม้ทางราชบัณฑิตจะปฏิเสธว่าไม่ใช่พจนานุกรมสำหรับ 'วัยโจ๋' เพราะเป็นการรวบรวมคำที่เกิดขึ้นใหม่และเป็นคำที่ใช้กันในปัจจุบัน แต่หลายคำเป็นภาษาที่มักใช้กันจำกัดเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น

0ที่ผ่านมาคำเหล่านี้ยังไม่เคยบรรจุไว้ในพจนานุกรม?

ถ้าหากย้อนกลับไปอ่านวรรณคดีหรือบันทึกเก่าๆ คำบางคำทุกวันนี้อ่านแล้วไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร อ่านก็ไม่ออกด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้มีการบันทึกหรือเก็บคำเหล่านี้ไว้ เวลาอ่านต้องมานั่งเดาเอาเอง ฉะนั้นคำที่เกิดขึ้นสมัยนี้ก็ต้องเก็บไว้ เพื่อว่าสมัยหลังจะได้มีแหล่งค้นคว้าอ้างอิงว่าคำๆ นี้มีความหมายว่าอย่างไร เพราะฉะนั้นคำอะไรก็ตามที่คิดว่าเป็นคำธรรมดาๆ ต้องจดเอาไว้ บันทึกเอาไว้ จะได้รู้ว่ามีความหมายอย่างไร เพราะถ้าคำเหล่านี้ไม่ได้มีคนใช้ต่อ ไม่ได้มีคนพูดขึ้นมามันก็หายไป บางคำอาจจะอยู่ บางคำอาจจะหายไป บอกไม่ได้ ฉะนั้นตอนนี้คำเกิดขึ้นก็ต้องเก็บไว้ก่อน

จากการสำรวจชำระพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน จะเห็นว่ามีคำที่ยังไม่ได้เก็บอยู่จำนวนมาก คำโบราณ คำสมัยใหม่ ดังนั้นเราแบ่งหน้าที่กัน คณะกรรมการชุดหนึ่งไปเก็บคำโบราณเก่าๆ ที่ไม่ได้ใช้ และคนไม่ค่อยรู้จัก พยายามเก็บมารวบรวมให้ได้ทั้งหมด อีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่รวบรวมเก็บคำสมัยใหม่หรือคำที่ใช้กันในปัจจุบัน

แต่สาเหตุที่มีข่าวออกไปอย่างนั้น เพราะมีนักข่าวมาถามแล้วจับประเด็นไม่ได้ พูดอะไรก็ผิดไปหมด พูดอะไรก็ไม่ทราบ ผิดเรื่องไปหมดเลย กลายเป็นว่าราชบัณฑิตยสถานจะบัญญัติคำภาษาวัยรุ่นไปเสีย มันไม่ใช่หน้าที่ของราชบัณฑิตที่จะต้องไปบัญญัติคำใหม่ ถ้าจะบัญญัติต้องบัญญัติศัพท์วิชาการเฉพาะคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษ และไม่มีคำภาษาไทยใช้เท่านั้น จะเห็นว่าศัพท์วิชาการทุกสาขาต้องบัญญัติขึ้นมา แต่ว่าคำเหล่านี้ราชบัณฑิตไม่ได้บัญญัติ แต่เป็นคำที่เกิดขึ้นมาเอง เพียงแต่ราชบัณฑิตมีหน้าที่เก็บรวบรวมไว้เท่านั้น

0พจนานุกรมเล่มนี้เป็นการเก็บคำใหม่ที่ใช้กันในปัจจุบัน?

เรียกว่าเป็นการสำรวจและรวบรวมคำปัจจุบัน เก็บคำที่ใช้ในปัจจุบันนี่แหละ หมายถึงคำที่ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมเล่มใหญ่ หรือยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับสมบูรณ์ เมื่อเก็บมาแล้วถึงได้รู้ว่ามี 'คำหลง' คือ คำที่ควรจะเก็บแต่ไม่ได้เก็บ คำที่เกิดมาใหม่ คำที่เป็นคำแสลง คำที่ยืมจากภาษาต่างประเทศคือ ภาษาอังกฤษ อย่าง 'เครดิตการ์ด' 'แฟรนไชส์' มันเป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ถ้าไม่เก็บต่อไปจะรู้ได้อย่างไรว่าแปลว่าอะไร เพราะที่ใช้กันอยู่มันไม่ได้ตรงกับภาษาอังกฤษ ไม่ได้ทับศัพท์ถูกต้อง บางทีก็ถูก บางทีก็ไม่ถูก บางทีมันมีความหมายแค่นี้ แต่เอามาใช้กับความหมายอื่น อย่างคำว่า 'รุ่นเดอะ' มีคำว่า the ในภาษาอังกฤษ แต่ 'รุ่นเดอะ' แปลว่าอะไร พอเอามาใช้มันแปลว่า เก่า โบราณ รุ่นใหญ่

ฉะนั้นตราบใดที่เรายังรู้ความหมายอยู่ ยังพอเข้าใจได้ว่าเราใช้ในประโยคอย่างนี้ก็เก็บเอาไว้ ทำคำอธิบาย และเก็บตัวอย่างไว้ อย่างคำว่า 'กะโหลกกะลา' 'กะรัต' เมื่อเอามาใช้ในความหมายใหม่ก็ต้องเก็บไว้ด้วย หรืออย่าง 'กั๊ก' หมายถึงกักแบ่งเอาไว้ส่วนหนึ่ง หรือ 'ยิงกระต่าย' ก็ไม่ได้หมายความว่าไปยิงกระต่ายจริงๆ บางคำมีความหมายใหม่ก็ต้องเอามาด้วย หรือความหมายเดิมยังไม่ได้เก็บเลยก็เก็บมา อย่างเช่น ของตาย ของสูง ขังลืม ขัดตาทัพ เหล่านี้มีคำต่างๆ เยอะแยะ พยายามสำรวจและเก็บรวบรวมมาไว้ในพจนานุกรมเล่มนี้

พจนานุกรมคำใหม่และคำเก่าที่พ้นสมัยไปแล้วจะแยกเล่มกันต่างหาก เล่มนี้ที่จริงส่วนหนึ่งเป็นคำใหม่ แต่อีกส่วนหนึ่งคิดว่าเป็น 'คำหลง' คือคำที่พจนานุกรมควรจะเก็บไว้ แต่ยังไม่ได้เก็บและใช้กันมานานแล้ว

0สำรวจและรวบรวมคำเหล่านี้มาจากไหนบ้าง?

จากทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จากที่ได้ยิน จากที่ใช้กันตามสื่อ หรือจากที่คนทั่วๆ ไปพูดกัน อย่างคำว่า ปาร์ตี้ลิสต์ ปาปารัสซี่ ปาท่องโก๋ ป๋าดัน เจ๊ดัน การเก็บคำในพจนานุกรมจะไล่ไปตามลำดับตัวอักษร ข่าวที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจผิดกันไปเอง เพราะไม่ทราบว่าเราเก็บอะไร พอบอกว่าเก็บคำใหม่ นักข่าวก็ถามว่าเก็บคำใหม่อย่างคำว่า 'กิ๊ก' เก็บไหม เราบอกไปว่าเก็บ เขาเลยไปเขียนว่าเราจะเก็บแต่เฉพาะคำภาษาที่เป็นแสลง จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะภาษาแสลง อาจจะมีนิดหน่อย แต่จริงๆ มันคือ คำที่ใช้ทั่วไป คำทับศัพท์ที่ยืมคำภาษาอังกฤษมาใช้

อย่างคำว่า 'ม็อบ' แตกย่อยออกไปเป็น ม็อบจัดตั้ง ม็อบมือถือ ม็อบขาสั้น คำเหล่านี้มีอยู่ ฉะนั้นก็ต้องเก็บ เพราะว่าต่อไปถ้าเด็กรุ่นใหม่มาค้นหนังสือพิมพ์หรืออ่านนิตยสารหรือวารสารสมัยปัจจุบัน อ่านแล้วเขาจะไปรู้ได้อย่างไรว่าแปลว่าอะไร ถ้าเขามาเปิดพจนานุกรมก็จะได้รู้ว่ามันแปลว่าอะไร ยุคนี้ใช้ความหมายอย่างนี้ แต่ต่อไปคำเหล่านี้จะอยู่ไหม ไม่ทราบ เปลี่ยนไหม ไม่ทราบ มันเป็นอนาคต อนาคตมันเปลี่ยนไปยังไงก็ค่อยไปเก็บกันอีกทีว่าเปลี่ยนไปแล้วนะ มีคำใหม่เกิดขึ้นแล้วนะ คำนี้ตายไปแล้วนะ จะกลายเป็นศัพท์โบราณไป หรือศัพท์ทางการที่สามารถใช้ได้ทั่วไป แต่ยังไม่ได้เก็บ อย่างศัพท์ด้านเศรษฐกิจ เช่นคำว่า 'ช้อนหุ้น' แปลว่าอะไร

0มองว่าคำแสลงที่เป็นภาษาวัยรุ่นถึงอย่างไรก็ต้องเก็บไว้?

ต้องเก็บไว้ก่อน เพราะว่าบางทีเราไม่เข้าใจ อย่างคำว่า 'ชิลล์ๆ' ถ้าไม่รู้ว่ามาจากไหนจะแปลไม่ออกเลย ไม่รู้ที่มาที่ไป ออกเสียงอย่างนี้ จะถูกหรือผิดแต่นี่คือ สิ่งที่ฟังมา คนเขาบอกมาว่าใช้อย่างนี้ นานๆ เข้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช้แล้ว พยายามฟังดูว่าอะไรถูกกันแน่ เหมือนอย่าง 'บิลท์อารมณ์' หรือ 'บิลด์อิน' เราสะกดออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ เสียงเลยผิดเพี้ยนไป แต่เวลาพูดเข้าใจได้ เหมือนดาราต้อง 'บิลท์อารมณ์' แปลว่า สร้างอารมณ์ให้เกิดขึ้น

0ไม่ได้มองว่าภาษาพวกนี้ทำให้ภาษาไทยวิบัติหรือผิดเพี้ยน?
ถูกผิดไม่รู้ แต่สิ่งที่คนทั่วไปใช้เป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นข้อมูลที่เราเก็บ สมมติว่าจะให้ถูกให้ผิดนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนที่จะบอกว่าเป็นภาษามาตรฐานนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องดูให้ออกว่าพวกนี้เป็นภาษาปาก ไปใช้กับภาษามาตรฐานไม่ได้ เวลาสอนเด็กก็เขียนอย่างนี้ ถ้าเขียนอย่างนี้แล้วให้เขาวิจารณ์ว่านี่เป็นภาษาพูด ภาษาปาก ไม่ใช่ภาษาทางการ ครูอาจจะบอกต่อว่าถ้าเขียนเป็นภาษาทางการจะเขียนยังไง เขาต้องรู้ว่าภาษาทางการเป็นอย่างไร เช่น 'เมาท์' ภาษาทางการว่า อภิปราย พูดคุย เจรจา นี่เป็นการเรียนรู้ภาษาต่างระดับกัน

0สมมติว่าถ้าเกิดเด็กๆ นำไปพูดไปเขียนจนติดเป็นนิสัยล่ะ?

เขาเขียนได้ แต่ครูต้องแก้และอธิบายให้ฟังว่าคำนี้เป็นภาษาพูด ใช้เป็นภาษาเขียนไม่ได้ ถ้าจะใช้เป็นภาษาเขียนต้องใช้อย่างนี้ๆ แต่อาจจะเขียนได้ในบทสนทนาที่เป็นนวนิยาย ต้องรู้จักภาษา เหมือนกับที่รู้ว่าคำราชาศัพท์ต้องใช้คำนี้ ภาษาคนธรรมดาต้องใช้คำนี้ ภาษาปาก ภาษาเล่น ใช้อย่างนี้ ภาษาจะด่ากันก็ใช้อีกอย่าง

0คิดว่าคำเหล่านี้เป็นสีสันของภาษาหรือเปล่า?

เรียกว่าเป็นคำที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้ เหมือนเวลาปกติที่พูดกับพ่อแม่ก็ต้องพูดเพราะ พูดอยู่กับเพื่อนก็อีกอย่างหนึ่ง อันนี้ก็ปกติ คนทุกคนต้องมีวงศัพท์ต่างๆ อยู่แล้ว คำหยาบคายก็ไม่ควรเอามาพูดกับคุณพ่อคุณแม่ ไปพูดกับพระก็พูดหยาบคายไม่ได้ คำธรรมดาๆ เพราะๆ ไปพูดกับพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้ มันต้องมีขอบเขตของกาลเทศะ บุคคล และเหตุการณ์

0พจนานุกรมเล่มนี้มีคำแสลงและคำทั่วไปเป็นสัดส่วนต่างกันเท่าไร?

คำแสลงมีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ได้ ไม่มากเท่าไร ความจริงจะเป็นพวกสำนวนและคำใหม่ที่มีความหมายอีกอย่าง เช่น 'รับจ๊อบ' ไม่ได้หมายความว่าเป็นลูกจ้างที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่เป็นการรับเป็นงานๆ เสร็จแล้วก็เสร็จกัน หรือ 'รากแก้ว' 'รากหญ้า' เหล่านี้ก็เป็นคำใหม่ที่มาจากภาษาอังกฤษ คนละอย่างกับความหมายตรง

0ถ้าเกิดคำใหม่ขึ้นก็ต้องเก็บไปเรื่อยๆ?

เก็บไปเรื่อยๆ ตามเท่าที่จะตามได้ เก็บเท่าที่จะเก็บได้ กรรมการทุกท่านได้ยินอะไรมาก็รีบจด จะได้รู้ว่ามันมีคำนี้ที่เขาใช้กันอยู่ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พิมพ์สักปีหนึ่งก่อน ให้รู้ว่ามีแค่นี้ อันที่หลงเหลืออยู่ และเกิดใหม่ ปีหน้าก็ทำใหม่ ปีหน้าจะมีอีก กรรมการชุดนี้ก็จะทำไปเรื่อยๆ ปีหน้าอาจจะได้อีกสัก 200-300 คำ เพราะจริงๆ ควรจะเก็บไปทุกปี เก็บไปเรื่อยๆ เพราะเราเองยังไม่เคยบอกด้วยซ้ำว่าคำไหนเกิดปีไหน ภาษาอังกฤษเขาจะมีบอกว่าคำนี้เกิดช่วงปีไหน แต่เรายังไม่ได้ละเอียดถึงขนาดนั้น ตอนนี้กำลังจะเริ่ม เอาแค่ให้เก็บได้ก่อน ไม่ได้มีแรงถึงขนาดนั้น
คำไหนที่เป็นภาษาปกติที่คนยอมรับคือ อาจจะเป็นคำทับศัพท์ที่ใช้เป็นปกติแล้ว ไม่มีศัพท์บัญญัติขึ้นมาใหม่ ก็ส่งไปให้เล่มใหญ่เก็บ หมายถึงคำส่วนหนึ่งในเล่มนี้จะนำไปเก็บไว้ในพจนานุกรมเล่มใหญ่ เป็นคำถาวรไป แต่ก็จะมีเล่มใหม่ต่อไปอีกเรื่อยๆ อาจจะมีคำแสลงเกิดขึ้นมาอีกเยอะแยะ คงแล้วแต่ยุคสมัย คงแล้วแต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่

จริงๆ อย่างคำว่า 'แฟน' ที่ใช้กันโดยทั่วไป แต่ยังเป็นภาษาต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ จะไปเขียนเป็นภาษาราชการไม่ได้ ก็ยังไม่ได้บรรจุในพจนานุกรม บางทีกรรมการก็ไปเพ่งเล็งคำใหม่ๆ มากเกินไป จะบอกว่าเป็นการทำให้ภาษาเสีย ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของการรวบรวมคำที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่เป็นคำแสลงแทบทั้งนั้น หมายถึงว่าเป็นคำที่ไม่ได้ใช้ความหมายตรง มันเป็นความหมายที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นความหมายที่สอง อย่าง 'กินคำโต' ก็ไม่ได้เป็นกินคำโตๆ แต่หมายถึงการคอร์รัปชันโครงการใหญ่ๆ คำแสลงเหล่านี้เป็นคำที่ไม่ใช่ความหมายตรง และส่วนใหญ่จะเป็นคำภาษาอังกฤษ เพราะว่าสมัยนี้คนชอบใช้ภาษาอังกฤษมาก

0พจนานุกรมเล่มใหม่นี้มีคำทั้งหมดกี่คำ?

ประมาณ 700-800 คำ พยายามรวบรวมคำช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 10 สิงหาคม 2548 ถึง 26 เมษายน 2550 ไว้ก่อน แต่จริงๆ ยังมีอีกเยอะ ต้องเติมไปเรื่อยๆ ปีหน้าน่าจะมีอีกสักเล่มหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นยามภาษา เพราะหากไม่บันทึกคำเหล่านี้ไว้ ถ้าต้องรอให้เวลาผ่าน 5-10 ปีก่อน บางทีก็ลืม หรืออาจจะหายไป ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร อาจจะนึกได้ว่ามีคำนี้แต่อาจจะแปลไม่ถูก ไม่ตรงอย่างที่ใช้กันจริงๆ อย่างเล่มนี้ก็ต้องไปศึกษาถามเด็กๆ ว่าเขาใช้กันยังไง ให้เด็กๆ อธิบาย ฉะนั้นถ้าระบุปีที่ใช้จะสามารถช่วยค้นได้มากเลย

อย่างเวลาไปอ่าน 'ไปรษณียบัตรเจ้าฟ้า' ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงรวบรวมไว้ จะมีคำแสลงเยอะมาก เจ้าฟ้าท่านอยู่เมืองนอกบ้าง อยู่เมืองไทยบ้าง เวลาเขียนไปรษณียบัตรคุยกันมีศัพท์แปลไม่ออกเยอะมาก

การรวบรวมคำเหล่านี้จึงไม่ใช่ศัพท์ที่ไร้ค่า มันก็มีค่าในฐานะเป็นศัพท์แสลง คนใช้กันได้ อีกหน่อยเวลาไปอ่านหนังสือย้อนหลังจะเข้าใจได้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร หรือบริบทสังคมเป็นอย่างไร 0
---------------------------------------
ตัวอย่างคำศัพท์

กระดี๊กระด๊า,หมายถึง ระริกระรี้, ตื่นเต้น, แสดงความสนใจเพศตรงข้าม เช่น พอเห็นหนุ่มหล่อๆ มาร่วมงาน สาวๆ ก็กระดี๊กระด๊ากันเป็นแถว
กะดี๊กะด๊า
กรึ๊บ " ดื่มเหล้า เช่น เลิกงานแล้วขอไปกรึ๊บสักหน่อย
กวนตีน " ชวนให้หมั่นไส้จนอยากทำร้าย เป็นคำไม่สุภาพ เช่น ไอ้หมอนี่หน้าตากวนตีนจริง
กวนบาทา " ชวนให้หมั่นไส้จนอยากทำร้าย
กลืนเลือด " กล้ำกลืนความเจ็บแค้นอย่างสาหัส
กิ๊บเก๋ " น่ารัก เท่ เช่น ชุดของเธอกิ๊บเก๋น่าดู
กูรู " ผู้เชี่ยวชาญ, ผู้รู้
เกย์ควีน " ชายรักร่วมเพศที่แสดงบทบาททางเพศเป็นหญิง
เกย์คิง " ชายรักร่วมเพศที่แสดงบทบาททางเพศเป็นชาย
แก้มลิง " แหล่งพักน้ำเพื่อรับปริมาณน้ำมาก ช่วยไม่ให้เกิดน้ำท่วม
กิ๊ก " เพื่อนสนิทต่างเพศซึ่งอาจจะมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว
โก๊ะ " ผลุบผลับและขี้หลงขี้ลืม
โกอินเตอร์ " เผยแพร่ ขาย หรือแสดงในต่างประเทศ
ไขก๊อก " ลาออก, ถอนตัว
คนมีสี " กลุ่มบุคคลที่แต่งเครื่องแบบ มักหมายถึงทหารหรือตำรวจ
คั่ว " คบกันอย่างคู่รักมานานแล้ว
โคโยตี้ " ผู้หญิงที่เต้นประกอบเพลงด้วยลีลาเย้ายวน มักเต้นในสถานเริงรมย์
ฆ่าตัดตอน " ฆ่าเพื่อไม่ให้ซัดทอดความผิดมาถึงตน
จวก " ว่าหรือตำหนิอย่างรุนแรง
จ๊าบ " สีฉูดฉาดสดใส, สวยและทันสมัย, เข้าท่า, น่าสนใจ
เด็กแนว " วัยรุ่นที่มีพฤติกรรมหรือแต่งตัวเป็นแบบเฉพาะของตน
เด๊ะ " ทุกประการ
เดชะบุญ " บังเอิญ (ใช้ในทางที่ดี)
เดต " ไปเที่ยวเฉพาะหนุ่มสาวโดยลำพัง, การนัดไปเที่ยวของหนุ่มสาว
ตลกบริโภค " ผู้ที่เข้าไปตีสนิทหรือทำให้ครึกครื้นเพื่อหวังกินฟรี
ต่อมฮา " จุดของอารมณ์ที่ทำให้หัวเราะหรือรู้สึกขำ
ติงต๊อง " ไม่เต็มเต็ง
ตีฉิ่ง " ร่วมหลับนอนกันระหว่างหญิงรักร่วมเพศ
ทอม " หญิงรักร่วมเพศที่ประพฤติตนเป็นฝ่ายชาย, คู่กับดี้
นกเขา " อวัยวะเพศชาย
ฯลฯ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คำว่า1000000ปีในประวัติสาสตร์อ่านว่าอย่างไร

นารินทร์ ทองดี กล่าวว่า...

ประวัติสาสตร์ แปลว่าอะไรล่ะครับ คำใหม่เหมือนกันหรือ? :)

แสดงความคิดเห็น