ด้วยความหมกมุ่น และตื่นเต้น ที่จะได้จีบนิ้ววาดวงแขนฟ้อนรำล้อมรอบช่อฯ แม้ว่าผู้ร่วมรำจะมีน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้งานกร่อยแต่อย่างใด
๑ มีนาคม ๒๕๕๓ ถือเป็นฤกษ์ดีสำหรับก้าวแรกที่เริ่มขยับ เสียงดนตรีบรรเลงขึ้นแล้ว และนี่คือการโหมโรง
........
หมายเหตุ : คัดลอกจากบางส่วนของ 'กถาบรรณาธิการ' สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในช่อการะเกด ๕๑ ซึ่งเป็นฉบับเทียบเชิญ นี่คือความเห็นของบรรณาธิการที่มีต่อผลงานของศิษย์เก่าของท่าน
..................................
ข้อสังเกตที่บรรณาธิการมีความเห็นกว้างๆโดยไม่เจาะจงไปที่ชิ้นงานของผู้ใด ก็มีอยู่บ้างดังต่อไปนี้
๑. ผู้สร้างงานบางคนมีนิสัยไม่ชอบเปิดพจนานุกรม ดังนั้นจึงมีไม่น้อยที่ยังสะกดคำผิดไปจากพจนานุกรม
๒. ผู้สร้างงานบางคนยังไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เชคอฟ และ เฮ็มมิงเวย์เคยกล่าวว่า “ศิลปะการเขียน คือการขัดเกลา” ผู้สร้างงานทุกคนไม่ว่าจะในวาระไหนก็ตาม ควรจะประณีตกับภาษาของตนเองอย่างยิ่งยวด แก้แล้วแก้อีก เกลาแล้วเกลาอีก แต่เมื่อ ‘พอ’ ก็หมายถึงพอ การใช้คำซ้ำ การใช้คำเชื่อม การใช้คำขยาย ไม่ว่าจะเป็นประโยคหรืออนุประโยคแบบไหน ควรตรวจแก้เสียให้พอใจ จึง ซึ่ง ที่ ก็ และ ควรพยายามทำให้ลงตัว ประโยคที่มีอนุประโยคซ้อนอยู่ควรดูแลให้ดีว่าเรียบลื่นหรือไม่ การเว้นวรรค การใช้วงเล็บ การใช้คำขยายซ้อน การบรรยายเรื่องแบบพรรณนาควรรักษาสมดุลให้พอเหมาะ ไม่ใช่พรรณนาเสียจนกลายเป็น ‘พรรดึก’ (แปลว่า ก้อนอุจจาระที่แข็งกลมเพราะท้องผูก) รูปประโยคไม่ว่าจะซ้อนกันแบบไหนควรรักษาสมดุลให้เหมือนเช่นที่เฮ็มมิงเวย์เคยกล่าวว่า งานเขียนที่ดีก็เหมือนภูเขาน้ำแข็ง ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ให้เห็นนั้น ถือเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ฐานของมันที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำและมองไม่เห็นต่างหากที่ทำให้ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งนั้นมั่นคง เฮ็มมิงเวย์กล่าวไว้ทำนองนั้นเพื่อเป็นบทเรียนว่า ควรเขียนแต่สิ่งที่ต้องการจริงๆ สิ่งที่เป็น the real thing หรือถ้าจะว่าตามความเห็นของ ‘ยาขอบ’ ก็คือ เขียน คำ ให้เท่ากับ ความ อะไรที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น ถ้าตัดได้ก็ตัดทิ้งไปเสีย ยิ่งตัดมากยิ่งมั่นคงมาก เหมือนส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่มีฐานกว้างใหญ่รองรับอยู่ ผู้สร้างงานที่เคย ‘ผ่านพิมพ์’ มาแล้วระดับหนึ่งย่อมจะมีบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไม่มากก็น้อย
๓. ชิ้นงานหลายชิ้นรู้สึกเหมือน ‘เมาเครื่องหมาย’ นี่เป็นข้อสังเกต ไม่ใช่ข้อตัดสิน บรรณาธิการมีความเห็นว่าภาษาไทยของเราแต่เดิมนั้นไม่มีการใช้เครื่องหมาย เครื่องหมายต่างๆที่เพิ่มปรากฏเข้ามาในประโยคต่างๆของภาษาไทยปัจจุบัน น่าจะเป็นอิทธิพล ‘นำเข้า’ ที่มาจากรูปแบบของภาษาอังกฤษ เพราะเป็นลักษณะการเขียน ‘ร้อยแก้วแนวใหม่’ (prose narrative) ตามแบบตะวันตกที่มีเครื่องหมายต่างๆเป็นตัวกำหนด และเครื่องหมายแบบ ‘ฝรั่ง’ เหล่านี้ก็ปรากฏอยู่ในตำราไวยากรณ์ไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ รวมทั้งอิทธิพลจากการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยก็มักจะคงเครื่องหมายแบบภาษาอังกฤษเอาไว้ จนกลายเป็นอิทธิพล ‘นำเข้า’ ที่ตกตะกอนอยู่ในจิตสำนึกของการใช้ภาษาไทย บรรณาธิการจึงมี ‘รสนิยมส่วนตัว’ ที่พยายามลดการใช้เครื่องหมายให้มากที่สุด แต่ก็ไม่ถึงกับเคร่งครัดเสียทีเดียว ถ้าเห็นว่าน่าจะตัดออกได้ก็ตัดทิ้งไป โดยคงไว้เท่าที่จำเป็นจริงๆ เช่น เครื่องหมายลูกน้ำ ที่ตำราไวยากรณ์ไทยเรียกว่า ‘จุลภาค’ บรรณาธิการเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้ให้รกตาก็ได้ ถ้ารู้วิธีที่จะ ‘เว้นวรรค’ อย่างสัมพันธ์กับจังหวะการหายใจ ภาษาไทยแต่ครั้งสมุดข่อยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเว้นวรรคก็จริง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นภาษาร้อยกรองแบบคำคล้องจอง แต่ต่อมาเกิดการเขียน ‘ร้อยแก้วแนวใหม่’ หรือ prose narrative ที่เริ่มมาพร้อมกับ หนังสือจดหมายเหตุ Bangkok Recorder ของหมอบรัดเลย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ มันจึงส่งอิทธิพลให้เกิดวิธีเขียนแบบใหม่ ดังมีตัวอย่างปรากฏจากงานเขียนในหนังสือพิมพ์ยุคบุกเบิกของเรา ตั้งแต่สมัย ดรุโนวาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ เป็นต้นมาและก็ได้พัฒนาต่อมาโดยติดอิทธิพลของเครื่องหมายแบบภาษาอังกฤษมาอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ การเขียนในลักษณะ ‘ร้อยแก้วแนวใหม่’ ที่ว่านี้ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยตราบจนปัจจุบัน การเขียนแบบมีเครื่องหมายประกอบจึง ‘ติด’ มาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาษาไทยสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม บรรณาธิการเห็นว่าภาษาไทยแต่เดิมก็มีคำขึ้นต้นที่เป็นเหมือนเครื่องหมายต่างๆอยู่แล้วในตัวเอง เช่น อะไร ทำไม ใคร อย่างไร ที่ไหน ดังนั้นจึงไม่น่าจะต้องใส่เครื่องหมายท้ายประโยคแบบภาษา ‘ฝรั่ง’ ให้รกตา เครื่องหมายคำถาม (?) ถ้าจะใช้ก็ควรใช้ในประโยคบอกเล่าเชิงตั้งข้อสงสัย (เช่น ‘ ทักษิณเป็นเกย์?’) แต่สำหรับประโยคคำถามในภาษาของเราเองนั้นมันมีลักษณะคำต้นที่เป็นเหมือนเครื่องหมายคำถามให้แล้ว หรือการใช้เครื่องหมายตกใจ (!) ก็น่าจะใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่รู้สึกตกใจกันแทบทุกประโยค การใช้เครื่องหมายแบบบ ‘เมาเครื่องหมาย’ จนเห็นว่าเป็น ‘สไตล์’ นั้น ว่าไปก็คงต้องดูกันเป็นรายๆ และอาจต้องยกเว้นให้เจ้าของอิทธิพลบางคน เช่น วิตต์ สุตถเสถียร อาษา ขอจิตต์เมตต์ ประมูล อุณหธูป ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ฯลฯ เนื่องจากเป็นผู้มาก่อนและมี ‘สไตล์’ การเขียนการแปลเฉพาะตนมานานแล้ว แต่สำหรับชิ้นงานของผู้สร้างใน ช่อการะเกด ฉบับปกติ บรรณาธิการมักรู้สึก ‘รกตา’ เมื่อเห็นผู้สร้างหลายคนชอบใช้เครื่องหมายแบบ ‘เมาเครื่องหมาย’ และเข้าใจว่าอาจไม่รู้ที่มาของการใช้เครื่องหมายเหล่านั้นว่าควรใช้อย่างไร จำเป็นหรือไม่ เช่นบางคนใช้จุดไข่ปลาเพราะติดใจ หรือไม่ก็ติดเป็นนิสัยเวลาเขียนหนังสือ บางคนชอบวงเล็บเกินความจำเป็นจนทำให้รูปประโยคสับสน บางคนใส่เชิงอรรถแทบทุกหน้า จนทำให้การอ่านเรื่องสั้นกลายเป็นการอ่านงานวิจัย อาการ ‘เมา’ ดังกล่าวจึงน่าจะเมาเท่าที่จำเป็น ใน ช่อการะเกด ฉบับปกติ ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตให้ดี ท่านจะรู้สึกว่าไม่ค่อยเห็นเครื่องหมายปรากฏมากนัก เพราะบรรณาธิการได้ใช้สิทธิ์ ‘ขีดข่วน’ ออกไปหมด แต่สำหรับ ช่อการะเกด ‘เทียบเชิญ’ ที่ปรากฏนี้บรรณาธิการให้เสรีภาพที่จะ ‘เมาเครื่องหมาย’ กันตามสบาย มันก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรหรอก เพียงแต่มันไม่ต้องกับ ‘รสนิยมส่วนตัว’ ของบรรณาธิการเท่านั้น ‘เทียบเชิญ’ ทุกชิ้นใน ช่อการะเกด ๕๑ ฉบับนี้ บรรณาธิการจึงไม่ได้เข้าไปขีดข่วนเครื่องหมายเหล่านั้นแต่ประการใด ท่านสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ชื่อเรื่องจนกระทั่งเนื้อในของชิ้นงานแต่ละเรื่อง ทุกพยางค์ ทุกประโยคที่ปรากฏ บรรณาธิการยังคงไว้ตามต้นฉบับของผู้สร้างงานทุกประการ
๔. การตั้งชื่อเรื่องสั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เรื่องสั้นบางเรื่องอาจมีเหตุผลที่ผู้สร้างตั้งใจจะใช้ชื่อให้ยาวมากๆเข้าไว้ จนเวลาอ่านต้องมีการพักครึ่ง ดังนั้นก็อยากจะถามว่า ชื่อเรื่องสั้นจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีชื่อยาวๆ ๆ ๆ นี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ บรรณาธิการก็ไม่ได้เคร่งครัดเรื่องนี้นัก แต่อยากฝากให้พิจารณาดูว่าเสน่ห์ของการตั้งชื่อเรื่องสั้นควรมีความสมดุลแบบไหน
๕. การใช้ภาษาอังกฤษแบบไม่จำเป็นควรมีอยู่หรือไม่ เรื่องนี้บรรณาธิการก็ไม่ได้เคร่งครัด เพราะตัวเองก็ยังติดนิสัยนี้อยู่ในบางครั้ง รวมทั้งนิสัยที่ชอบใช้ ‘เครื่องหมายคำพูด’ เหมือนเป็นการเน้นทั้งที่รูปประโยคอาจไม่จำเป็น นิสัยการใช้หรือการกำกับด้วยภาษาอังกฤษก็เช่นกัน ควรใช้เพราะมีหลักหมายบางประการ เช่นเป็นผู้ริเริ่มถอดคำคำนั้นจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยครั้งแรก หรือตั้งใจใช้เพราะมีเจตนาให้เหมาะกับบริบทที่กำลังเขียน ไม่ใช่นึกจะใช้ก็ใช้เพราะเห็นว่าเท่ดี เรื่องนี้ไม่ได้เคร่งครัดแต่ก็อยากให้ระมัดระวัง เพราะไม่อยากให้เมาตัวอักษรภาษาอังกฤษจนเสียรสชาติของการอ่านบริบทที่เป็นภาษาไทย
๖. การระบุตัวเน้น ผู้สร้างงานควรระวังว่าต้องการเน้นจริงๆ มิใช่เน้นกันทุกบรรทัดหรือทุกพารากราฟ จนแทบทำให้เนื้องานทั้งชิ้นหมดความสำคัญ ตามหลักสากลทั่วไป ตัวเน้นนั้นจะใช้ก็ได้ แต่ควรระวังไม่ใช้ตัวเน้นที่เด่นดำจนทำให้เนื้องานทั้งชิ้นกลายเป็นเหมือน ‘ฝีดาษบนหน้ากระดาษ’ การใช้ตัวเน้นตามหลักสากลส่วนใหญ่จะเป็นชื่อหนังสือ หรือชื่อเฉพาะที่ต้องการเน้นเท่านั้น และก็ควรเน้นเป็นตัวเอนบางชุดเดียวกับตัวเนื้องาน บางครั้งผู้สร้างงานบางคนคงจะรู้สึกว่าชิ้นงานของตนนั้นสำคัญเสียจนต้อง ‘สั่งตัว’ กำกับมาด้วย ว่าไปก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่มันน่ารำคาญ อิทธิพลของการ ‘สั่งตัว’ มาด้วย ว่าไปแล้วก็เป็นแบบไทย-ไทยมาตั้งแต่สมัยตัวตะกั่ว รุ่นโรงพิมพ์ฉับแกระ ผู้ส่งอิทธิพลคนสำคัญก็อย่างเช่น สุภา ศิริมานนท์ ประมูล อุณหธูป และที่ส่งอิทธิพลสำคัญก็คือคอลัมน์ ‘หน้า ๕’ ของ คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน นสพ.สยามรัฐ รายวันเมื่อครั้งอดีต แม้จะเข้าใจดีถึงความเร้าใจดังกล่าวในการใช้ตัวอักษรตามสั่งบนหน้ากระดาษ แต่โดยมาตรฐานสากล การพิมพ์หนังสือมิใช่การสั่งก๋วยเตี๋ยว อิทธิพลของการ ‘สั่งตัว’ ที่มาพร้อมกับผู้สร้างงานปัจจุบัน ได้ส่งทอดไปถึงการใช้ฟอนท์ตามใจชอบของฝ่ายศิลป์ในยุคตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์ด้วย ทำให้ยังเห็น ‘ฝีดาษบนหน้าหนังสือ’ เปลอะไปหมด เวลาอ่านมักจะตาลายเพราะมันเต็มไปด้วยฟอนท์ประเภทต่างๆ ที่ถูกกำหนดเอาตามใจของฝ่ายผลิต จนเกิดเป็น ‘ฝีดาษ’ กระจายไปทั่วทั้งเล่ม ยิ่งผู้สร้างงานบางคน ‘สั่งฟอนท์’ ล่วงหน้ามาด้วยก็ยิ่งอาจทำให้เกิดอาการ ‘ฝีดาษ’ เหล่านั้นมากขึ้น การใช้ตัวเน้น ไม่ว่าจะสั่งโดยผู้สร้างงาน หรือฝ่ายศิลป์ในยุคตัวพิมพ์คอมพิวเตอร์ พวกเขาควรต้องทำความเข้าใจกับประเภทของหนังสือให้เห็นภาพแจ่มชัดทั้งเล่ม โดยเฉพาะเนื้องานประเภทบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี และหรือหนังสือวิชาการนั้นไม่น่าจะใช่เนื้องานแบบคอลัมน์ ‘หน้า ๕’ ของคึกฤทธิ์ ปราโมช หรือการพาดหัวเป็นตัวเน้นประเภทต่างๆ แบบหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อไหร่สิ่งที่เรียกว่า ‘ฝีดาษบนหน้าหนังสือ’ จะหมดไปเสียที บรรณาธิการก็จนปัญญาจะตอบในเรื่องนี้ นอกจากนั้นยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก็มีส่วนที่ทำให้เกิด ‘ฝีดาษ’ ได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่การเคาะคีย์เปลี่ยนฟอนท์ และการเปลี่ยนฟอนท์ในยุคการพิมพ์คอมพิวเตอร์สามารถทำได้รวดเร็วมากกว่าช่างเรียงตัวตะกั่วในยุคโรงพิมพ์ฉับแกระ เรื่องนี้ในแวดวงสิ่งพิมพ์ก็ไม่เคยทราบว่ามีการสังคายนากันอย่างเป็นระบบหรือไม่ อีกทั้งการพิมพ์ในยุคดิจิตอลนั้นมีลักษณะเป็นงานกราฟิกมากขึ้นทุกวัน สื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันที่ปรากฏจึงเหมือนให้ความสำคัญกับ ‘การดู’ มากกว่า ‘การอ่าน’ ถ้าหากไม่หาจุดสมดุลในเรื่องนี้ให้ได้ ‘ฝีดาษบนหน้าหนังสือ’ ก็จะเกิดขึ้นต่อไปจนทำให้คำว่าหนังสือกลายเป็นเรื่องอยาก ‘ดู’ มากกว่าอยาก ‘อ่าน’
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น