วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ระหว่างหัวใจไทยกับหัวใจมนุษย์

วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 20:00:00 น.  มติชนออนไลน์

ระหว่างหัวใจไทยกับหัวใจมนุษย์

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ใครซื้ออาหารเลี้ยงช้างเร่ร่อนในกรุงเทพฯ จะถูกปรับเป็นเงิน 10,000 บาท แต่เนื่องจากทาง กทม.เกรงว่า กฎหมายใหม่ยังไม่เป็นที่รู้กันทั่วไป ในระยะแรกจึงจะตักเตือนก่อน

นี่คือโครงการ "ช้างยิ้ม" ของ กทม. จุดมุ่งหมายคือขจัดช้างเร่ร่อนออกจาก กทม.ให้หมด เพื่อประโยชน์ต่อตัวช้างเอง เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ไม่เหมาะจะมีชีวิตเร่ร่อนอยู่ในเมือง ไม่มีแหล่งอาหารสำหรับช้างในเมือง และไม่มีความปลอดภัยสำหรับสัตว์ที่ใหญ่และออกจะเก้งก้างเช่นนั้นในเมืองที่ การจราจรคับคั่ง

อันที่จริง เมืองเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิตของสัตว์สักประเภทเดียว รวมทั้งมนุษย์ด้วย แต่สัตว์หลายประเภทปรับตัวได้ นับตั้งแต่ยุง, แมลงสาบ, สุนัข, แมว, และคน ซึ่งในเวลาอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ส่วนใหญ่ของมนุษย์ทั้งโลกจะเข้ามาอยู่ในสิ่งแวดล้อมชนิดนี้ทั้งหมด แต่ช้างปรับตัวไม่ได้ จึงทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสในเมือง

ความพยายามจะขจัดช้างออกจากเมือง จึงเป็นเป้าหมายของหน่วยงานต่างๆ มานานแล้ว ทั้งของรัฐและเอกชน และเพราะไม่ประสบความสำเร็จ จึงได้เกิดโครงการ "ช้างยิ้ม" ของ กทม.ขึ้นในครั้งนี้

ช้างไทยกับชาวนาไทยนั้นมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน เพราะ "อาชีพ" ของช้างบ้าน (หรือ "ช้างขอ") ได้หมดไปแล้ว เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคม ส่วน "อาชีพ" ใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งรับช้างตกงานไปมากที่สุด ก็ยังไม่สามารถดูดซับช้างบ้านได้หมด จึงทำให้เขาไม่มีงานทำ ต้องเข้ามาเร่ร่อนหากินในเมือง ช้างเร่ร่อนอยู่ตามร้านข้าวต้ม, ชาวนาซุกอยู่ในโรงงานที่ไม่ต้องการฝีมือแรงงาน และในสลัม

ความคล้ายกันอีกอย่างหนึ่งของช้างไทยกับชาวนาไทยก็คือ ช้างมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ชาวนาไทยก็ผลิตได้ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเหมือนกัน เราไม่อาจมองช้างเป็นสัตว์โดดๆ เหมือนสุนัขหรือแมวได้ หากต้องมองเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ที่เป็นแหล่งอาหารของเขา และเนื่องจากเขากินจุมาก อีกทั้งยังตกงาน อาหารที่เขาพึงกินจึงต้องเป็นอาหารที่เจ้าของช้างไม่ต้องควักกระเป๋าจ่าย ได้แก่ ป่าดงที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน ซึ่งสมัยก่อนถือเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนเลี้ยงช้างทุกคน แต่เพราะไม่ระวังรักษา จึงถูกบุกรุกจนแทบไม่เหลืออีกแล้ว หนทางเดียวที่ช้างตกงานจะอยู่รอดก็คือ เข้าเมืองเพื่อกินอาหารจากกระเป๋าของคนอื่น อาหารประเภทนี้ออกมาในรูปธนบัตร ทำให้คนแย่งช้างกินได้ด้วย ที่หากินได้น้อยอยู่แล้ว จึงยิ่งน้อยลงไปใหญ่

ชาวนาก็เหมือนกัน ไม่ใช่คนโดดๆ กับผืนนาของตนเอง แต่ต้องอาศัยระบบนิเวศ ทั้งนิเวศทางวัฒนธรรม และภูมินิเวศที่เหมาะสม จึงสามารถทำการผลิตในที่นาของตนอย่างได้ผล (คือไม่ขาดทุน) เมื่อระบบนิเวศเหล่านี้พังสลายลง ชาวนาก็ไม่สามารถผลิตได้ และต้องเข้าเมืองเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ แต่ก็พบว่า อาหารชนิดใหม่เหล่านี้ออกมาในรูปของธนบัตรซึ่งเมื่อคนกินไม่หมด ก็ยังอาจซุกเก็บเอาไว้หรือไปทำให้มันงอกงามขึ้นกว่าเดิมได้ ดังนั้น จึงมีคนเข้ามาแย่งอาหารในแหล่งอาหารชนิดนี้กันมากมาย ไม่ใช่เพื่อกินอย่างเดียว แต่เพื่อกักตุนไว้ให้มากๆ ด้วย

ชาวนาไม่มีทักษะอะไรจะขายในแหล่งอาหารใหม่นี้เลย จึงต้องยอมรับค่าจ้างถูกๆ เพื่อประทังชีวิตต่อไป

ช้างไทยและชาวนาไทย คือรูปธรรมของความล้มเหลวในการเข้าสู่สังคมทันสมัยของไทยเอง เพราะไม่ได้ปูทางให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าสู่สังคมทันสมัย อย่างที่จะมีอำนาจต่อรองอันเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจ, การเมือง หรือวัฒนธรรม

เรื่องมันใหญ่เสียจนการออกกฎหมายไม่ให้คนซื้ออ้อยเลี้ยงช้างเร่ร่อนเป็นแค่แมงหวี่ที่ตอมหูตอมตาช้างเท่านั้น

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว กฎหมายอย่างนี้ยังต่อต้านสัญชาตญาณที่ดีของมนุษย์ และมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม รวมทั้งวัฒนธรรมไทยด้วย นั่นคือความรู้สึกร่วมทุกข์กับเพื่อนร่วมโลก

ผมเชื่อว่า ส่วนใหญ่ของคนควักเงินซื้ออ้อยเลี้ยงช้าง ต่างก็รู้ถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของช้างเร่ร่อน ที่ต้องมาเดินอดโซอยู่ในเมือง ทั้งร้อนทั้งเครียด ผิดธรรมชาติของช้าง แต่ปัญหามันใหญ่เกินกว่าคนใจบุญเหล่านี้จะแก้ไขได้ ที่ทำได้เล็กๆ น้อยๆ ก็คือให้ช้างได้กินบ้าง เท่าที่กำลังทางเศรษฐกิจของตนจะพอเกื้อหนุนได้

ใจอย่างนี้มีคุณค่า เป็นพื้นฐานของเหตุผลที่เราจะมีชีวิตในสังคมต่อไป รัฐที่ฉลาดจะขยายใจอย่างนี้ไปสู่อะไรได้อีกหลายอย่าง นับตั้งแต่โครงการสวัสดิการทางสังคม, เครือข่ายความปลอดภัยทางเศรษฐกิจและสังคม, ความเป็นธรรมในสังคม ฯลฯ อันจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เหมาะแก่การดำรงชีวิตทั้งของคน, สัตว์ และพืชได้ในระยะยาว

การขจัดช้างเร่ร่อนออกจากเมืองด้วยการทำลายใจอย่างนี้ จึงได้ไม่คุ้มเสีย เพราะคุณค่าทางนามธรรมดังกล่าวนี้ มีความสำคัญเสียยิ่งกว่าจะมีหรือไม่มีช้างเร่ร่อนในเมือง เพราะถึงเมืองมีช้างเร่ร่อน จะไม่น่าอยู่อย่างไร ก็ยังน่าอยู่กว่าเมืองที่ผู้คนไม่มีใจที่รู้สำนึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น

ผมทราบดีว่านี่เป็นตรรกะสุดโต่ง เปิดทางเลือกลวง เพราะไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราอาจนำช้างเร่ร่อนออกจากเมืองได้ โดยไม่ต้องทำลายใจซึ่งเป็นรากฐานอันมั่นคงของสังคมลงก็ได้

แต่ความสำคัญของ "ใจ" กลับลดน้อยลง หากมุ่งแต่ความสำเร็จเฉพาะหน้า

ไม่นานมานี้ ผมได้ยินว่ากระทรวงไอซีที รณรงค์ให้ผู้ท่องเว็บรายงานข้อความ, ภาพ, และเสียงที่ตนคิดว่าผิดกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐได้โดยสะดวก ซ้ำยังรายงานอย่างภาคภูมิใจด้วยว่า หลังจากได้เปิดช่องทาง "สอดแนม" ทางสังคมเช่นนี้แล้ว มีผู้รายงานการสอดแนมของตนเข้ามามากน้อยเท่าไร และกระทรวงได้ตามไปบล็อคหรือถึงกับดำเนินคดีกับผู้ส่งข้อความ, ภาพ, หรือเสียงไปแล้วเท่าไร

ความผิดทั้งหมดเหล่านี้ โดยเฉพาะข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เกิดขึ้นจากการวินิจฉัยของนัก "สอดแนม" เอง แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการทำผิดที่มี "เหยื่อ" เช่น การลักทรัพย์, การทำร้ายร่างกาย หรือการละเมิดทางเพศ ฯลฯ แม้ผู้แจ้งตำรวจอาจวินิจฉัยผิด แต่ก็เกิดขึ้นจากความห่วงใยสวัสดิภาพของคนที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็น "เหยื่อ" ความผิดบนเว็บส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดไม่มี "เหยื่อ" การรายงานแก่ทางการจึงอาจเป็นการกลั่นแกล้ง หรือแม้แต่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพระหว่างพลเมืองด้วยกันเอง โดยพลเมืองทำตัวเป็น "ตาสับปะรด" แทนรัฐ

เรากำลังสร้างสังคมแห่งความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ไม่มีใครที่เป็นอันตรายต่อคนไทยยิ่งไปกว่าคนไทยด้วยกันเอง เพราะทุกคนกำลังถูก "สอดแนม" จากเพื่อนร่วมสังคม เมื่อใดที่เขาเข้าสู่พื้นที่ไซเบอร์ ต้องเหลียวซ้ายแลขวาก่อนก้าวย่างไปอย่างระมัดระวังทุกฝีก้าว นี่คือสังคมที่เราต้องการกระนั้นหรือ

หลายปีมาแล้ว นักต่อต้านคอมมิวนิสต์มักจะยกอนุสาวรีย์เด็กชายโซเวียตคนหนึ่ง ที่รายงานคำพูดของพ่อแม่ที่ถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐแก่ทางการ พ่อแม่ถูกรัฐลงโทษ ส่วนเด็กชายนั้นถูกชาวบ้านรุมกระทืบถึงตาย รัฐจึงสร้างอนุสาวรีย์นั้นขึ้น

นักต่อต้านคอมมิวนิสต์ยกเรื่องนี้ขึ้นเพื่อบอกว่า ชาติ, สถาบันทางการเมือง, อุดมการณ์ชาติ, หรือพรรคการเมือง ย่อมมีคุณค่าน้อยกว่าความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าจะออกมาในรูปของความสัมพันธ์ในครอบครัว, การคบหาในวงเพื่อน, ความไว้วางใจระหว่างกัน ฯลฯ

สองสามทศวรรษต่อมา สังคมไทยกำลังเดินไปบนเส้นทางที่นักต่อต้านคอมมิวนิสต์วาดภาพของโซเวียตไว้

จริงอยู่หรอก อุดมการณ์ของรัฐชาติ คือยกชาติให้เป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต ยิ่งกว่าพระเจ้าในบางสังคม ยิ่งกว่ากษัตริย์ในบางสังคม, ยิ่งกว่าอะไรอื่นทุกอย่างที่มนุษย์ก่อนหน้ารัฐชาติเคยถือว่าเป็นสิ่งสูงสุด มาก่อน

แม้กระนั้น รัฐชาติกำเนิดขึ้นได้ก็ด้วยการประนีประนอม กล่าวคือปล่อยความคลุมเครือไว้ระหว่างชาติกับสิ่งสูงสุดบางอย่าง เช่น รัฐฆราวาสวิสัยผลักพระเจ้าออกไปจากชาติ เพื่อไม่ต้องแย่งกันว่าใครเป็นสิ่งสูงสุดกว่ากัน อุดมการณ์ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ของอังกฤษและไทย ทำให้สามอย่างนี้เป็นสามด้านของสิ่งสูงสุดอันเดียวกัน จนกระทั่งไม่ต้องถามว่าสามอย่างนี้อาจขัดแย้งกันเองได้หรือไม่ และแน่นอนว่าชาติจะไม่ลงมาตัดสินว่า ระหว่างความสัมพันธ์พื้นฐานของความเป็นมนุษย์กับชาติ อะไรเหนือกว่าอะไร

กรณีเรื่องเล่าของนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ยกมาข้างต้น คือกรณีน่าสะเทือนใจเพราะรัฐชาติเข้าไปตัดสินว่า ความภักดีต่อชาติย่อมอยู่เหนือกว่าความภักดีต่อครอบครัว

ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงไอซีทีคุยโวโอ้อวดนั้น ที่จริงแล้วคือการทำลายพื้นฐานความสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์ นั่นคือความไว้วางใจระหว่างกัน ใช้ความหวาดระแวงเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์แทนความไว้วางใจ ปัญหามันใหญ่กว่าการสร้างเงื่อนไขให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขให้มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมสูญเสียความสามารถที่จะ อยู่ร่วมกันในสังคมเลยทีเดียว

นี่ก็เป็นเรื่องของ "ใจ" ที่รัฐไทยยุคหลังๆ นี้ไม่เคยให้ความสำคัญเหมือนกัน ใน "หัวใจไทย" ที่รัฐไทยกำลังสร้างขึ้นอย่างเมามันนั้น มี "หัวใจมนุษย์" อยู่ด้วยหรือไม่